ผมและทีมงาน CIMB Principal ได้มีโอกาสไป visit บริษัทต่างๆ ในเวียดนามช่วงวันที่ 11-13 กันยายน ที่ผ่านมา ได้เรียนรู้ว่าเวียดนามเป็นประเทศที่ “น่าลงทุน” มาก ด้วยเหตุผลดังนี้ครับ
1. เศรษฐกิจโตเร็ว – หลังจากเวียดนามเจอฟองสบู่ในประเทศแตกเมื่อปี 2008 – 2012 เศรษฐกิจเวียดนามก็ฟื้นอย่างรวดเร็ว GDP Growth สูงถึง 6.7% ในปี 2015 และคาดว่าจะโต 7% ในปี 2016 เป็นตัวเลขการเติบโตสูงที่สุดใน ASEAN โดยมีเครื่องยนต์หลักหลายตัว ทั้งการบริโภคในประเทศ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และที่มาแรงที่สุด คือ การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment = FDI) ที่หลั่งไหลเข้าเวียดนาม ส่วนหนึ่งเป็นการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนและไทยซึ่งค่าแรงแพงกว่า 2 เท่า อีกส่วนหนึ่งคือบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่จากเกาหลี ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ มาสร้างฐานการผลิตในเวียดนามเพราะชอบที่มีชายแดนติดกับจีน (แหล่งนำเข้าวัตถุดิบ) และใกล้ท่าเรือน้ำลึก (ส่งออกสินค้าไป US/EU/Japan) เรื่อง FDI นี่เห็นข้อมูลแล้วก็สะท้อนใจมาก ที่ไทยเราไม่มี FDI เข้ามาติดกัน 2-3 ปี ทั้งๆที่เราเคยเป็นฐานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิค ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าบริษัทเกาหลีอย่าง Samsung และ LG แม้กระทั่งรถจักรยานยนต์ Vespa ก็ไปสร้างฐานการผลิตในเวียดนาม
2. ประชากรอายุน้อย – ในขณะที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เวียดนามกลับเป็นประเทศที่มีประชากรอายุน้อย โดยสัดส่วนประชากรเกินครึ่งมีอายุน้อยกว่า 29 ปี เมื่อเด็กหนุ่มสาวเหล่านี้เรียนจบและเริ่มทำงาน จะกลายเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ค่อยๆ พัฒนาเป็นชนชั้นกลางซึ่งมีกำลังซื้อมหาศาล มีการย้ายเข้าเมืองและเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต ธุรกิจที่จะเติบโตดี ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ (ซื้อคอนโด/เช่าอพาร์ทเม้นท์) เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์/รถจักรยานยนต์ ธนาคาร (กู้เงินซื้อบ้าน/รถ) เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ห้างสรรพสินค้า/ร้านสะดวกซื้อ (วิถีคนเมือง)
3. โอกาสเติบโตอีกมาก – เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศเกิดใหม่ หลายสิ่งหลายอย่างจึงเพิ่งจะเริ่มต้น ซึ่งเมื่อมองเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาไปไกลกว่า อย่างไทยหรือมาเลเซีย จะพบว่ามี “โอกาส” รออยู่อีกมาก เช่น คนเวียดนามเพียง 1 ใน 3 ที่มีบัญชีธนาคาร แปลว่า ธุรกิจธนาคารยังโตได้อีกมาก หรือในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ มีเพียง 55% ที่ใช้ Smart Phone แปลว่า เมื่อคนเวียดนามมีรายได้มากขึ้น ก็จะทยอย upgrade เป็น Smart Phone มากขึ้น

4. ส่งออกรุ่ง – นึกถึงประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน เราเคยโตเร็วจนเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียก็เพราะการส่งออก ปัจจุบันเวียดนามกำลังเป็นแบบนั้น และไป “แรง” กว่าด้วย โดยเวียดนามโชคดีที่บรรดา FDI ที่มาตั้งฐานการผลิต ใช้วิธีนำเข้าวัตถุดิบจากจีน นำมาผลิตแล้วส่งไปขายสหรัฐฯและยุโรป เมื่อเศรษฐกิจจีนชลอตัว เวียดนามจึงไม่เดือดร้อน (ต่างจากหลายประเทศในเอเชียที่เดือดร้อนเพราะพึ่งพาการส่งออกไปจีน) และในกลุ่มที่ลงนาม Transpacific Partnership (TPP) เวียดนามจะเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะมีรายได้ต่อหัวประชากรน้อยที่สุดและพึ่งพาการส่งออกมากที่สุด
5. Remittance – สิ่งที่เหมือนกันระหว่างเวียดนามกับฟิลิปปินส์ คือ มีคนไปทำงานที่ต่างประเทศแล้วส่งเงินกลับบ้าน ที่เรียกว่า Remittance เงินที่ไหลเข้าประเทศก็ถูกนำไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อบ้านซื้อรถ เป็นเหตุให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ บูมมาก สิ่งที่ต่างกันระหว่าง 2 ประเทศคือ คนฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน รายได้ที่ส่งกลับบ้านต่อคนจึงไม่มาก แต่คนเวียดนามส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อพยพลี้ภัยสงครามไปตั้งแต่หลายสิบปีก่อน ทุกวันนี้ก็ก่อร่างสร้างตัวเป็นนักธุรกิจ รายได้ต่อหัวที่ส่งกลับบ้านจึงสูงกว่ามาก
6. ระบบการศึกษาดี – ว่ากันว่า วัฒนธรรมเวียดนามคล้ายจีนและสิงคโปร์ คือ ให้คุณค่ากับการเรียนและการทำงานหนัก โรงเรียนประถมและมัธยมในเวียดนามคุณภาพสูงมาก การจัดอันดับคะแนน PISA ซึ่งวัดผลคะแนนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เรียงลำดับดังนี้ 1. Singapore 2. Hong Kong, 3. South Korea, 4. Japan & Taiwan (คะแนนเท่ากัน) อันดับถัดๆ มาเป็นประเทศในยุโรป เวียดนามมาเป็นอันดับ 12 .. ส่วนประเทศไทย อันดับ 47 ครับ … อย่างไรก็ดี การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยยังมีคุณภาพไม่สูงมาก คือ มหาวิทยาลัยดีๆ มีน้อย คนเวียดนามจำนวนมากจึงนิยมส่งลูกหลานไปเรียนต่อต่างประเทศ
7. เก็บเงินเก่งและเป็นหนี้น้อย – เรื่องเก็บเงินเก่งนี่เป็นวัฒนธรรมเอเชีย อัตราการออมเงินภาคครัวเรือนของเวียดนามสูงกว่า 30% พอๆ กับประเทศไทย แต่ในขณะที่รัฐบาลไทยหลายยุคสมัยใช้นโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเน้นให้กู้เงินซื้อบ้านซื้อรถ จนระดับหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงกว่า 80% ของ GDP คนเวียดนามยังติดนิสัยใช้เงินสด แม้กระทั่งของชิ้นใหญ่อย่างบ้านและรถก็ซื้อเงินสด ทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนยังอยู่แค่ 20% ของ GDP อย่างไรก็ดี มีแนวโน้มว่าคนเวียดนามเริ่มหันมากู้เงินซื้อบ้านซื้อรถมากขึ้น ยอดขายบ้านและรถพุ่งแรงโดยไม่ต้องอาศัยมาตรการของรัฐ ในมุมหนึ่งก็คงทำให้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งก็แสดงว่า เศรษฐกิจจะโตได้อีกมากจากการบริโภคในประเทศ

8. เรียนรู้และปรับตัวเร็ว – เท่าที่ได้สัมผัสกับเจ้าของธุรกิจ ผมสังเกตว่า คนเวียดนามเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และปรับตัวได้เร็วมาก เจ้าของ Mobile World เล่าให้ฟังว่า นอกจากยอดขายมือถือหน้าร้านจะเติบโตดีสุดๆ แล้ว ยอดขายผ่านช่องทาง e-commerce ก็โตเร็วมาก ปัจจุบันบริษัทขายมือถือ online ได้มากกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท (ผมเดาว่าตัวเลขนี้สูงกว่าประเทศไทย) และ Mobile World รับประกันส่งสินค้าถึงบ้านภายใน 30 นาที ผมสังเกตด้วยว่า เจ้าของธุรกิจหลายคนที่ได้คุยด้วย ทั้ง Vinamilk, PNJ และ Mobile World ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่อาศัยเดินทางไปดูแบบจากต่างประเทศ เลือกอันที่ดีมาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตและนิสัยใจคอของคนเวียดนาม
ปล. ผมตั้งใจให้มี 8 ข้อ เพราะคนเวียดนามเชื่อว่า เลข 8 เป็นเลขมงคล มีความหมายว่า ความเจริญรุ่งเรือง ครับ ไหนๆ ก็ใช้เลข 8 ขอต่อด้วยหุ้น 8 ตัวที่ผมและทีมงาน CIMB Principal ไป visit มาครับ
ขอแถมอีกนิดในแง่ประเด็นความเสี่ยงและข้อควรระวัง เพื่อให้ครบถ้วนครับ
1. หนี้ภาครัฐสูง – แม้ในฝั่งครัวเรือนจะมีหนี้น้อย แต่ภาครัฐของเวียดนามมีหนี้สูงประมาณ 60% ของ GDP (ของไทยประมาณ 40%) เป็นความเสี่ยงหนึ่งที่ต้องจับตามองครับ
2. การลงทุนในตลาดหุ้นยังมีข้อจำกัด – แม้ตลาดหุ้นเวียดนามจะคึกคักและมีบริษัทน่าสนใจลงทุนเยอะมาก แต่ก็ต้องทำใจว่ามีข้อจำกัดเยอะ เช่น
– หุ้นหลายตัวมีโควต้าของนักลงทุนต่างชาติ หุ้นดีๆ หลายตัวจึงมีต่างชาติซื้อลงทุนจนเต็มโควต้าแล้ว
– หุ้นส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก เทียบง่ายๆ ว่าเหมือนลงทุนตลาด MAI
– 80% ของปริมาณการซื้อขายเป็นรายย่อย ซึ่งชอบเล่นสั้นมากแบบ day trade และชอบเล่นหุ้นตามข่าว ทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวนมาก
– การเข้าถึงข้อมูลยังจำกัด มีเพียงไม่กี่บริษัทที่มีรายงานประจำปีเป็นภาษาอังกฤษ มีน้อยรายที่เผยแพร่ในเวปไซด์
– ต้องทำใจว่า ข้อมูลที่ปรากฎในงบการเงินอาจจะยังไม่น่าเชื่อถือ 100%

ถ้ามองแบบยุติธรรม ข้อจำกัดการลงทุนต่างๆ ในเวียดนามก็ไม่ต่างอะไรกับตลาดหุ้นไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน ทีมงาน CIMB Principal ที่ดูหุ้นเวียดนามมาก่อนผมยังบอกว่า ที่เราเห็นวันนี้พัฒนาขึ้นเยอะแล้ว ผมจึงเชื่อว่า อีกไม่กี่ปี ข้อจำกัดเหล่านี้จะค่อยๆ หมดไป การเข้าลงทุนในช่วงนี้อาจจะต้องเสี่ยงหน่อย ซึ่งเป็นธรรมชาติของการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ครับ
โดย วิน พรหมแพทย์, CFA
Chief Investment Officer (CIO)
CIMB-Principal Asset Management Co. Ltd.
http://www.cimb-principal.co.th
*** คำเตือน: การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ***
Win Phromphaet’s comments, opinions and analyses are his personal views and are intended to be for informational purposes and general interest only and should not be construed as individual investment advice or a recommendation or solicitation to buy, sell or hold any security or to adopt any investment strategy. It does not constitute legal or tax advice. The information provided in this material is rendered as at publication date and may change without notice and it is not intended as a complete analysis of every material fact regarding any country, region, market or investment. Reliance upon information in this posting is at the sole discretion of the viewer. Please consult your own professional adviser before investing.